Commandeer Armament
Platform : PC
Genre : Tactic Card Games Online
Publisher : Commandeer TGC
Release Date : 6 June 2018
How to Play
หนึ่งรอบหรือหนึ่งครบเทิร์นการเล่น
แม้ตัวเกมจะอธิบายว่าเกมมีทั้งหมด 4 เฟส คือ เฟสวางแผน เฟสป้องกัน เฟสโจมตี และเอนเฟส แต่ถ้าให้ผมอธิบายครบเทิร์นการเล่นจริง ๆ ผมอยากนับเป็น 6 เฟสในหนึ่งเทิร์นการเล่นทั้งฝ่ายเราและฝ่ายตรงข้ามมากกว่า โดยไม่อยากนับเอนด์เฟสเข้ามาให้เปลืองพื้นที่ หนึ่งเทิร์นการเล่นของเกมซึ่งผมจะนับว่าเราจะได้เริ่มเล่นก่อนมีดังนี้
- เฟสวางแผนฝ่ายเรา
- เฟสเตรียมป้องกันฝ่ายตรงข้าม
- เฟสโจมตีฝ่ายเรา
- เฟสวางแผนฝ่ายตรงข้าม
- เฟสเตรียมป้องกันฝ่ายเรา
- เฟสโจมตีฝ่ายตรงข้าม
นี่คือหนึ่งรอบการเล่นที่จะครบรอบทั้งเราและฝ่ายตรงข้ามจนจบ ที่ต้องแบ่งแบบนี้จะได้เห็นการกระทำของเราแยกออกมาชัดเจนว่าเราต้องทำอะไรบ้าง แบ่งเป็นแถบสีแดง สิ่งที่เราต้องทำหลักๆ จะมี 3 อย่าง เรียงลำดับคือ วางแผน โจมตี และป้องกัน หรือถ้าศัตรูเริ่มก่อนก็จะสลับ ป้องกันมาขึ้นก่อน แล้วเป็น วางแผน และโจมตี หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วเราจะวางการ์ดเมื่อไหร่ ออกการ์ดอีเวนท์ได้เมื่อไหร่ จะอธิบายให้ละเอียดแยกเป็นเฟสดังนี้
1 เฟสวางแผนฝ่ายเรา
สิ่งที่เกิดขึ้นอัตโนมัติ
– รีเทิร์นค่าคอมมานด์ 3 พอยท์
– จั่วไพ่อัตโนมัติเฉพาะรอบแรก ค่าคอมมานด์จะเหลือ 2 พอยท์
เฟสนี้ ถ้าเป็นรอบแรกสุด จะแตกต่างจากเฟสอื่น ๆ เพราะจะเป็นการจั่วไพ่ โดยไพ่ที่จั่วขึ้นมาจะสามารถยกเลิกหรือแคนเซิลได้ เกมจะสับไพ่และจั่วใหม่ ถ้าพอใจแล้วก็ตกลงรับไพ่ได้ ไพ่ในมือจะมี 5 ใบในตอนแรก และคอมมานด์พอยท์จะมีแค่ 2 คอมมานด์ เนื่องจากคอมมานด์แรกสุดจะใช้ไปกับการจั่วไพ่นั่นเอง แต่ในรอบต่อ ๆ ไปจะมี 3 คอมมานด์ บางคนอาจจะเคยชินกับเกมการ์ดบางเกมที่บังคับจั่วไพ่ทุกรอบ แต่ว่าเกมนี้ไม่ใช่ เราจะจั่วไพ่ใหม่ หรือไม่จั่วก็ได้ การจั่วไพ่จะทำโดยอัตโนมัติ หากมีไพ่ในมือไม่พอ
สิ่งที่ทำได้
– วางยูนิตการ์ด
– เคลื่อนที่ยูนิตการ์ด
– จั่วไพ่
– ใช้อบิลิตี้ หรืออีเว้นท์การ์ดสำหรับเฟสวางแผน
เฟสนี้ เราจะต้องทำการวางแผนในการรบ ด้วยการวางยูนิตการ์ด เคลื่อนที่ยูนิตการ์ด ใช้การ์ดอีเว้นท์ (เฉพาะในส่วนของเฟสวางแผน) หรือใช้อบิลิตี้ รวมไปถึงการจั่วไพ่ ซึ่งเงื่อนไขบังคับหลังจั่วไพ่ คือต้องทิ้งการ์ด 1 ใบในมือ และจะส่งผลให้เอเนอยีเพิ่มขึ้น + 1 ซึ่งจะทำให้เราสามารถเพิ่มเอเนอยีด้วยการจั่วไพ่ได้ แม้จะไม่มีการ์ดที่เพิ่มเอเนอยีในมือก็ตาม
การวางยูนิตการ์ด และเคลื่อนที่ยูนิตการ์ด
การวางการ์ดจะมีเงื่อนไขสำคัญคือต้องมี คอมมานด์พอยท์ การ์ดแต่ละใบจะมีค่าพอยท์ที่แตกต่างไป ซึ่งคอมมานด์พอยท์ จะมีจำกัดให้แค่ 3 พอยท์ หากวางการ์ดที่ใช้ 3 พอยท์ เราก็จะสามารถทำได้แค่ 1 อย่างในการวางแผนครั้งนี้ ทำให้การวางการ์ดแต่ละใบ ต้องคิดให้ดีเสียก่อน การเคลื่อนที่การ์ดก็เช่นกัน มีเงื่อนไขในการเคลื่อนที่การ์ดอยู่ โดยมากก็จะเสียคอมมานด์พอยท์ 1 พอยท์ แต่ว่าบางการ์ด จะต้องเสียเอเนอยีด้วย
นอกจากจะดูเอเนอยีแล้ว ตำแหน่งในฟิลด์ที่วางการ์ดได้ ก็จะมีความแตกต่างกัน ฟิลด์ขอบ จะปลอดภัยจากการโจมตีด้านที่ติดขอบ แต่ก็มีผลให้พลังชีวิตลดลง ส่วนฟิลด์ตรงกลางสนามรบจะช่วยเพิ่มพลัง ดังนั้นการวางการ์ดจึงต้องมีแผนที่ดีพอเพื่อทำให้การ์ดฝ่ายตรงข้ามแตกได้
เป้าหมายหลักของการวางแผนคือต้องทำให้การ์ดฝ่ายตรงข้ามแตก
เนื่องจากยูนิตการ์ดเป็นเหมือนพลังชีวิต และหลังเฟสโจมตี พลังชีวิตของการ์ดจะฟื้นคืนมาเต็ม การวางแผน จึงต้องทำให้การ์ดฝ่ายตรงข้ามเสียหายจนแตกไป ไม่ใช่โจมตีทิ้งไว้เฉยๆ เพราะการโจมตีไปเฉยๆ ไม่ได้เกิดผลอะไรเลย ผ่านเฟสไปพลังก็เต็มเหมือนเดิม ดังนั้นเป้าหมายหลักคือวางแผนยังไง จะทำให้สังหารการ์ดฝ่ายตรงข้ามได้อย่างน้อย 1 ใบ และไม่ทำให้ฝ่ายเราเสียเปรียบ เป็นการคิดสองชั้น ด้วยการกำหนดตำแหน่งวางการ์ดและเคลื่อนที่การ์ด ที่ทำให้มั่นว่าจะเก็บฝ่ายตรงข้ามได้อย่างน้อย 1 ใบ และเราต้องไม่เสียการ์ด หรือถ้าดูแล้วยังไงก็เก็บฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ ก็วางให้ยังไงเราก็ไม่เสียการ์ดแน่นอน และมีโอกาสโจมตีในอนาคตได้
การจั่วไพ่
การจั่วไพ่ในเกมนี้จะเรียกว่า รีเอนฟอร์ซ หรือเรียกกำลังเสริม ซึ่ง 1 ครั้งการจั่ว จะได้การ์ด 2 ใบ และใช้พลังคอมานด์พอยท์ 1 พอยท์ ในหนึ่งครั้งการจั่ว จะต้องทิ้งการ์ด 1 ใบ และจะได้พลัง (ตามที่ระบุไว้เบื่องต้น)
การใช้อีเว้นท์การ์ดหรืออบิลิตี้ของการ์ด
การใช้อบิลิตี้ของการ์ด หรืออีเว้นท์การ์ดในเฟสวางแผน จะมีผลต่อไปในเฟสโจมตี บางการ์ดหรืออบิลิตี้จะมีผลเพิ่มพลังโจมตี บางการ์ดหรืออบิลิตี้จะทำให้เกิดความสามารถพิเศษ ซึ่งการใช้สิ่งเหล่านี้จะต้องมีเอเนอจีในการใช้ และจะมีผลค่อนข้างชัดเจนโจ่งแจ้งเพราะฝ่ายตรงข้ามจะเห็นการกระทำของเราทุกอย่าง จึงทำให้การวางแผนอาจจะต้องคิดหลายซ้อน เพื่อให้ศัตรูไม่ทันป้องกันในเฟสของตน หรือนึกไปไม่ถึง
สิ่งที่จะได้เพิ่มในเฟสวางแผน
– เอเนอยีจากการจั่วไพ่ และการวางการ์ด
– จำนวนการ์ดจากการจั่วไพ่
– จำนวนยูนิตการ์ดในสนามรบ
– ค่าพลังโจมตีหรือพลังชีวิตหรือความสามารถพิเศษของยูนิตการ์ดในสนามรบ
สิ่งที่จะเสียไปจากเฟสวางแผน
– คอมมานด์พอยท์
– ไพ่ในสำรับหากมีการจั่วไพ่
– ไพ่ทั้งหมดเมื่อจั่วไพ่แล้วต้องทิ้งไพ่
– เอเนอจี หากมีการใช้อบิลิตี้หรืออีเว้นท์การ์ด (หรือลงยูนิตการ์ดบางตัว)
2 เฟสโจมตี
สิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
– ผลของการ์ดอีเว้นท์หรืออบิลิตี้ที่เราใช้ในเฟสวางแผน
สิ่งที่ต้องทำในเฟสโจมตี
– เลือกการ์ดโจมตีใส่ฝ่ายตรงข้าม
เฟสโจมตี ไม่สามารถทำอะไรเพิ่มได้อีก จะใช้อีเว้นท์การ์ดก็ไม่ได้เพราะต้องใช้ตั้งแต่การวางแผนแล้ว ดังนั้นเฟสนี้จะทำได้แค่เลือการ์ดที่มีโจมตีใส่การ์ดฝ่ายตรงข้าม และหากโจมตีแล้วไม่ตายแน่นอน อย่าไปเสียเวลาโจมตีเลยดีกว่า ให้คลิกเอนเฟสไปเลย เพราะจะไม่มีผลอะไรเมื่อจบเฟสแล้ว พลังของยูนิตการ์ดฝ่ายตรงข้ามจะฟื้นคืนมาเต็มดังเดิม ดังนั้นการวางแผนให้เกิดการโจมตีอย่างที่บอกในเฟสวางแผนจึงสำคัญมาก ๆ เฟสนี้เป็นการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เท่านั้น จัดเป็นเฟสที่ไม่สำคัญอะไรเลย แค่แสดงผลของการวางแผนของฝ่ายเรา และการป้องกันของฝ่ายตรงข้าม
สิ่งที่จะได้ในเฟสโจมตี
– กำจัดการ์ดฝ่ายตรงข้าม
สิ่งที่จะเสียในเฟสโจมตี
– ค่าพลังหรืออบิลิตี้ที่เพิ่มขึ้นจากอบิลิตี้หรืออีเว้นท์การ์ดที่มีเงื่อนไขจบลงในรอบ
3 เฟสป้องกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
– การโจมตีของฝ่ายตรงข้าม
– ผลของการ์ดอีเว้นท์หรืออบิลิตี้ที่เราใช้ในเฟสวางแผนที่ไม่หมดในรอบ
สิ่งที่ต้องทำในเฟสป้องกัน
– ใช้การ์ดอีเว้นท์ที่สามารถใช้ได้ในเฟสป้องกัน
การใช้การ์ดอีเว้นท์ในเฟสป้องกัน
เกมนี้เฟสป้องกันจะมีความหมายกว่าเฟสโจมตีมาก นั่นคือเมื่อเข้าสู่เฟสวางแผนของฝ่ายตรงข้าม เราจะเห็นว่าเขาทำอะไร หรือคิดต่อไปว่าเขากำลังจะทำอะไรในเฟสโจมตี เมื่อมาถึงเฟสป้องกัน เราจะต้องหาทางป้องกันสิ่งที่เขาคิดหากมันจะมีผลให้เราต้องเสียยูนิตการ์ดบนฟิลด์ซึ่งหมายถึงพลังชีวิตของเราไป โดยอาศัยการ์ดอีเว้นท์หรืออบิลิตี้ที่เรามีอยู่ แต่ว่าไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะใช้ได้ เพราะจะต้องพึ่งพลังเอเนอยีที่มีอยู่ด้วย หากไม่มีเอเนอยีเหลือ ถึงจะมีอีเว้นท์การ์ดก็ใช้ไม่ได้ กลับกัน ถึงจะมีเอเนอยีล้นเหลือ แต่ถ้าอีเว้นท์การ์ดไม่อยู่ในมือ ก็ไม่มีความหมาย เกมนี้ไม่มีการวางการ์ดหมอบไว้ หรือการจั่วการ์ดช่วยกะทันหัน ดังนั้นหากไม่ได้คิดวางแผนตั้งแต่การจัดเดก การเติมเอเนอยีในเฟสวางแผน เฟสป้องกันนี้ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรนอกจากพึ่งดวง ซึ่งก็มักจะไม่ได้ผลด้วย ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดในเฟสป้องกัน คือสิ่งที่เราวางแผนระยะยาวมาตั้งแต่ตอนจัดเดก และสะสมเอเนอยีเผื่อไว้ ในเฟสวางแผน ถ้าไม่ได้คิดไว้แต่แรก เฟสนี้เราก็จะทำได้แค่ปล่อยผ่าน และรอดูการ์ดเราแตกไปในเฟสโจมตีของคู่แข่งทีละตัว
เกมนี้หลังจากป้องกันการโจมตีเสร็จแล้ว พลังชีวิตของการ์ดจะฟื้นคืนเต็มเหมือนเดิม
สิ่งที่จะได้จากเฟสป้องกัน
– ไม่มี
สิ่งที่จะเสียในเฟสป้องกัน
– การ์ดอีเว้นท์ที่ใช้
– ยูนิตการ์ดที่ถูกทำลาย
ฟิลด์ สนามรบที่มีความแตกต่าง
สนามรบของเกมนี้ จะเป็นช่องสำหรับวางการ์ดขนาด 6 x 6 ซึ่งมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ส่วนรอบนอกสุดจะดีต่อการป้องกันการโจมตีเพราะศัตรูบางตัวจะโจมตีไม่ได้ในทิศทางนั้น และปิดจุดท่อนสำหรับการ์ดบางใบที่โจมตีได้ทิศทางน้อย แต่จะมีผลในเรื่องการลดพลังชีวิต 3 ในขณะที่ด้านในจะเป็นช่องปกติ และในสุดเป็นจุดวางตอนแรก
การวางการ์ดในสนามรบ จะมีพื้นฐานหลักๆ จากทิศทางการโจมตีของการ์ด ดังนั้นหากจะให้การ์ดโจมตีได้ดี ต้องวางให้การ์ดมีทิศการโจมตีที่ถูกต้อง รวมถึงการดูอบิลิตี้ของการ์ดด้วย เพราะการ์ดบางใบ มีอบิลิตี้เพิ่มพลังโจมตีให้เพื่อน หรือบางใบจะลดพลังโจมตีของศัตรู เป็นต้น