วันที่ 27 มิถุนายน 2562 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพจัดโครงการ BU GAME JAM 2019 เปิดเวทีแข่งขันพัฒนาเกมระดับอุดมศึกษา เพื่อปูทาง ยกระดับศักยภาพสู่เส้นทางนักพัฒนาเกมในอนาคต
BU Game Jam 2019 ยกระดับนักพัฒนาเกม
ดร.พัฒนพล เหรียญโมรา รองคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า โครงการ BU GAME JAM เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ประจำปีที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพใช้เป็นเวทีฝึกฝนทักษะและเพิ่มประสบการณ์เรียนรู้ในการพัฒนาเกมและสื่อเชิงโต้ตอบ ส่งเสริมการลงมือปฏิบัติผ่านกระบวนการเรียนการสอนตามแนวคิด Creativity + Technology โดยผสานความรู้ข้ามศาสตร์ คือ วิชา Digital Storytelling คณะนิเทศศาสตร์และวิชา Object-oriented Programming คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม รวมทั้งจัดบรรยายพิเศษให้นักศึกษาโดยเชิญวิทยากรมืออาชีพตัวจริง มาให้ความรู้ มุมมองและแบ่งปันประสบการณ์ตรงช่วยชี้แนะแนวทางและเทรนด์การออกแบบเกมที่โดนใจตลาด
นักพัฒนาเกมที่มีฝีมือต้องมีเวทีพัฒนาทักษะทุกด้านทั้งความคิดสร้างสรรค์ การเล่าเรื่องและการใช้เทคโนโลยี เวที GAME JAM ในระดับสากลที่จัดขึ้นในหลายประเทศชั้นนำ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่สามารถยกระดับความสามารถของนักพัฒนาเกม รูปแบบ BU GAME JAM จึงเป็นเครื่องมือลับสมองประลองฝีมือของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรมเกมและสื่ออินเตอร์แอคทีฟอย่างมีคุณภาพ สามารถทำงานไปพร้อมกับการเรียน
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดหลักสูตรเกมและสื่อเชิงโต้ตอบ โดยมีมหาวิทยาลัย Full Sail University สหรัฐอเมริกา ผู้นำระดับโลกสาขา Game Design ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร มุ่งผลิตบุคลากรรองรับทุกสายงานอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกมและอีสปอร์ต เช่น Animator, Audio Engineer, Game Creative Director, DevOps Engineer, Game Designer, Technical Artist ฯลฯ โดยให้นักศึกษาได้ลงมือทำงานจริงกับองค์กรที่ร่วมเป็นพันธมิตรด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเกม ทำโปรเจ็กต์เกม โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเกมคอยให้คำปรึกษา มีการศึกษาดูงานกับบริษัทผู้ผลิตเกม ร่วมรายการแข่งขันเกมและกีฬาอีสปอร์ตในทัวนาเม้นต์ต่างๆ
นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มีโอกาสฝึกทักษะ Soft Skill ที่สำคัญ เช่น ความคิดสร้างสรรค์และการทำงานเป็นทีม รวมทั้งทักษะในสายอาชีพที่ชอบ โดยการแข่งขันครั้งนี้มีผู้เข้าแข่งขันทั้งสิ้น 50 ราย กำหนดเวลา 7 สัปดาห์ ให้นักศึกษารวมกลุ่มพัฒนาเรื่องราว (Story) และตัวต้นแบบ (Model) ของเกมคอมพิวเตอร์ และมี 10 ผลงานที่ผ่านรอบคัดเลือก
ในรอบชิงชนะเลิศ นักศึกษานำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นพันธมิตรด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จากภาคอุตสาหกรรมเกมและสื่อเชิงโต้ตอบ ประกอบด้วย 1. บริษัท ทรู แอกซิออน 2. บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (Yggdrazil group Co.,Ltd.) 3. บริษัท ดีบัสซ์ จำกัด (Debuz Co.,Ltd.) และ 4. Wicket Gaming (Thailand) Co.,Ltd. โดยมีเกณฑ์การพิจารณาแบ่งเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ การเล่าเรื่องสนุก-น่าสนใจ และการนำไปพัฒนาต่อยอดในเชิงธุรกิจ
ภายในงานยังมีการบรรยายพิเศษให้ความรู้นักศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพตัวจริงในอุตสาหกรรมเกม มีคุณศรัญย์พัจน์ เสรีวัฒนา Visionary บริษัท Cloud Colour จำกัด ให้ความรู้ในเรื่อง “การวิเคราะห์และออกแบบเกม” และคุณจิรายุ บุตรขุนทอง Mobile Game Marketing Senior Association บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด หัวข้อ “การทำตลาดและการดูแล Game Community” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
สำหรับผลการแข่งขัน BU GAME JAM 2019 ทีมชนะเลิศคือ Project Memories รองชนะเลิศอันดับ 1 Lanticon รองชนะเลิศอันดับ 2 Grand Forest และรางวัล Popular Vote Project Memories
อันดับ 1 และ รางวัล Popular Vote Project Memories
อันดับ 2 Lanticon
อันดับ 3 Grand Forest